[รีวิว] 2020 Honda CRF1100L Africa Twin ทั้ง DCT และ MT โฉมใหม่ล่าสุด

0

Africa Twin รถที่ได้สมญานามว่าเป็น “ราชันย์แห่งทะเลทราย” มีสโลแกนประจำตัวว่า “True Adventure” บอกถึงการใช้งานทั้ง On Road และ Off Road ได้อย่างดี กับโฉมใหม่รหัส CRF1100L เหน็บเทคโนโลยีมาเต็มคัน เยอะที่สุดที่เคยมีมา ผมพามาให้ทำความรู้จักกันแล้ว เชิญเสพกันได้เลย

เกิดมาก็คว้าแชมป์โลกเลย

“แอฟริกา ทวิน” ชื่อที่สืบต่อมาจากรถแข่งในรหัส NXR750V ที่ HRC พัฒนาและสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1986 – 1987 ใช้เครื่องยนต์แบบ V-Twin จุดประสงค์เพื่อใช้ลงแข่งใน Dakar Rally รายการแข่งแรลลี่ที่อันตรายและใหญ่ที่สุดในโลก

ต่อมาในปี 1988 – 1989 ก็อัพเป็นรหัส NXR800V โดยตลอด 4 ปีที่ลงแข่ง (1986 – 1989) ฮอนด้าก็เหมาแชมป์ไปทั้ง 4 ปีติดต่อกัน และในปี 1988 ฮอนด้าก็ผลิต “แอฟริกา ทวิน” โมเดลสำหรับขายออกมา เป็นปีแรกครั้งแรกในขนาด 650 ซีซี และพัฒนาเป็น 750 ซีซี ก่อนยุติสายการผลิต “แอฟริกา ทวิน” ไปในปี 2003

กำเนิดใหม่ปี 2016 กับดีไซน์ที่คงความเป็น Big Enduro

ฮอนด้า เปิดโปรเจ็ค “แอฟริกา ทวิน” ท่ามกลางกระแสรถแนว Adventure Touring ที่แข่งขันกันอย่างหนักหน่วง ซึ่งก่อนหน้าฮอนด้ามี VFR1200X Crosstourer อยู่ในเซ็กเมนต์นี้ แต่ด้วยสเป็คต่างๆ มันไม่ตอบโจทย์สายลุยเอาเสียเลย ผมมีโอกาสได้ลองขี่แล้วก็ต้องว่าตามนั้นเช่นกัน ดังนั้นการมาของ “แอฟริกา ทวิน” ภายใต้ปีกแบรนด์ปีกนก จึงเป็นที่คาดหวังและจับตาของนักขี่ทั้งโลก

2016 เราจึงได้เห็นโฉมใหม่ของ “แอฟริกา ทวิน” นอกจากดีไซน์ที่รับกับยุคสมัยแล้ว ให้ความรู้สึกถึงความเป็น Big Enduro คือลุยแน่นอนล่ะ (ใครขี่ CRF250L อยู่แล้วมาลองขี่แอฟริกาทวิน โพสิชั่นคล้ายกับ 250 แต่ไซส์ใหญ่) เครื่องยนต์ก็เปลี่ยนจาก V-Twin เป็นแบบ 2 สูบเรียงหรือ Parallel Twin พร้อมขยับขึ้นไปในพิกัด 1,000 ซีซี เพื่อตอบโจทย์การเดินทางไกลได้สบายๆ ในทุกระยะทางและทุกเส้นทาง พร้อมกับสโลแกนประจำตัวว่า “True Adventure”

DCT ในรถ Big Enduro ไฮไลท์เด็ด

ฮอนด้านำเทคโนโลยี DCT (Dual Clutch Transmission) เข้ามาใส่ในแอฟริกา ทวิน แต่ก็มีรุ่นเกียร์ MT หรือเกียร์ธรรมดาให้เลือก ฮอนด้ากล้าที่จะแตกต่างโดยการใส่ระบบเกียร์ DCT เข้ามาในรถที่ลุยได้จริงเช่นนี้ เมื่อใส่ระบบ DCT มาในรถแนวนี้  ก็ต้องกล้าที่จะให้นักขี่แนว Off Road ที่คุ้นเคยกับรถที่มีเกียร์แบบปกติ ได้ลองใช้ระบบเกียร์ DCT ในเส้นทาง Off Road ด้วยตัวเอง พร้อมรับแรงวิจารณ์ว่ามันจะเป็นบวกหรือลบ หรือดีกว่าระบบเกียร์ธรรมดาอย่างไร

การที่ฮอนด้าเปิดตัวระบบ DCT ในรถ Adventure Touring หรือแนว Big Endueo พร้อมยกเป็นไพ่เด็ด ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดของรถสไตล์นี้ (ฮอนด้าก็พร้อมเกมส์อ่ะนะ) แต่ด้วยระบบ DCT ที่ฮอนด้าพัฒนามาโดยตลอด จึงมั่นใจว่าใช้งานกับรถ Off Road ได้ และที่สำคัญต้อง “ขายได้”

Adventure Sports L2 หล่อ อัพเกรดเพื่อการเดินทางที่ไกลขึ้น

ปี 2018 ฮอนด้าก็เปิดตัวแอฟริกาทวินรุ่น Adventure Sports ออกมาอีกหนึ่งรุ่น หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า L2 (แอลทู) กับออฟชั่นใหม่ สังเกตง่ายสุดคือถังน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใหญ่ขึ้นและมีสีหรือลายกราฟิกแบบเดียวกับแอฟริกาทวินแชมป์แรลลี่ดาการ์

L2 มากับเกียร์ DCT และ MT ให้เลือก ชัดเจนว่าระบบ DCT ไปต่อได้ และเป็นที่ถูกใจนักบิดทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ด้วยความฉลาดในการเปลี่ยนเกียร์ที่ตรงความต้องการในขณะนั้นมากกว่า 80 – 90% และยังสามารถเลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้ทุกเมื่อที่สวิทซ์แฮนด์

ดร่ามาความสูง(เตี้ย)ของเบาะและท้องรถ

แต่ L2 ก็ไม่พ้นดราม่าในเรื่องความสูงของเบาะและใต้ท้องรถที่บางคนบอกว่า “เตี้ยไป” แต่เอาเข้าจริงยอดจำหน่ายของ L2 ก็ลบดราม่านั้นได้ พร้อมๆ กับการขี่ทดสอบจริงจาก User และนักทดสอบ รวมถึงผมที่ต้องบอกว่า “ลุยไปเถอะ ขี่ได้ขนาดไหน ดูที่ทักษะคนขี่ก่อน”

ถ้ามีความสูงมากกว่า 180 ซม.ขึ้นไปก็โอเค L2 อาจจะเตี้ยไปจริง แต่ส่วนใหญ่สูงไม่ถึง! การขี่รถ Big Enduro น้ำหนักตัวกว่า 200 กิโลกรัมผ่านอุปสรรคในป่าไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ถ้าไม่แข็งแรง ไม่มีทักษะและ “เท้าไม่ถึงพื้น” (เรื่องท้องรถจะโดน ไว้ทีหลังเลย) คุณจะไม่สามารถรับน้ำหนักรถที่เอนลงมาฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้เลย เมื่อเจอพื้นที่เอียงหรือไม่เสมอกัน อาการพื้นหายจะมาบ่อยพอๆ กับหนัง AV ในไลน์กลุ่มเลยล่ะ

ผมกับ L1 ตัว DCT ในทริป X-Venture อุดร – เชียงคาน ที่ว่านั่น

และคุณจะไม่สามารถใช้เท้า(ตีน)ช่วยประคองรถ(พาย)เพื่อผ่านอุปสรรคได้เลย ซึ่งในกิจกรรม Adventure ที่ Honda Bigbike จัดให้กับลูกค้าในทริปหน้าฝน “อุดร-เชียงคาน” ก็ยิ่งชัด ด้วยสายฝนตกลงมาอย่างหนัก จนเส้นทางที่ทีมงานมาเซอร์เวย์ตอนแรกนั้นแห้งๆ เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า จากดีๆ กลายเป็น “เละ” หลายคนต้อง “ถอดเบาะขี่” ให้เท้าเหยียบได้เต็มพื้นช่วยพยุงรถให้ผ่านอุปสรรคไป พร้อมกับความอ่อนล้า กว่าจะพากันออกจากป่ามาถึงที่พัก คันสุดท้ายก็ล่อไปเที่ยงคืน แต่สุดท้ายทริปนี้ก็กลายเป็นทริปแห่งความประทับใจกันไปเลย

2020 All New CRF1100L Africa Twin เปลี่ยนใหม่หมดทั้งคัน

ฮอนด้าเปิดตัวแอฟริกา ทวิน ใหม่แบบ All New เปิดตัวครั้งแรกในงาน EICMA 2019 ที่ผ่านมา และมาเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นการเปิดตัวแบบ Live Streaming ครั้งแรกของฮอนด้า ด้วยเพราะ พรก.ฉุกเฉินจากภาวะระบาดของไวรัส “โควิด-19” ที่โดนกันทั่วโลก

เหลาเปิดหัวมาซะยาว เพราะมีเหตุที่ต้องโยงถึงคือเรื่องดราม่า “ความสูงของเบาะ” และท้องรถอีกแล้วนั่นเอง ด้วยเพราะอาจเอาไปเทียบกับสเป็คที่ส่งขายอเมริกา ยุโรป  ก็ต้องบอกว่า “กลับไปอ่านย่อหน้าข้างบนก่อนหน้านี้ได้เลย”

2 เวอร์ชั่น ต่างออฟชั่นและดีไซน์

แอฟริกา ทวิน ใหม่เปิดตัวมาด้วยกัน 2 รุ่นคือ รุ่นเกียร์ธรรมดา และรุ่น Adventure Sports เกียร์ DCT ทั้ง 2 รุ่นต่างกันกันที่ดีไซน์อย่างชัดเจน รวมถึงอุปกรณ์ที่ติดรถมา ดีไซน์โดยรวมโฉบเฉี่ยว ดุดันกว่ารุ่นเดิม และความเห็นส่วนตัวผมต้องบอกว่าสวยกว่าเดิมด้วย มาดูสเป็คมาตรฐานที่เหมือนกันของทั้ง 2 รุ่นกันก่อน

ขุมกำลังใหม่ ใหญ่กว่าเดิม

เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง Parallel Twin SOHC 8 วาล์ว ระบบ Uni-Cam* ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบ 1,084 ซีซี. มากว่าเดิม 86 ซีซี. จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด PGM-FI ลิ้นปีกผีเสื้อขนาด 46 มม. ให้กำลังสูงสุด 101 แรงม้าที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 105 นิวตันเมตรที่ 6,250 รอบ/นาที ทั้งแรงม้าและแรงบิดก็มากกว่าเดิม อัตรากำลังอัด 10.1:1 เกียร์ธรรมดา 6 สปีด เกียร์ DCT 6 สปีด

*ระบบ Uni-Cam คือเพลาลูกเบี้ยวอันเดียวหมุนเปิดปิดวาล์วไอดีโดยตรง ส่วนลูกเบี้ยวที่จะปิดเปิดไอเสียจะมีก้านกระเดื่องไปเตะที่วาล์วอีกที ระบบนี้จะทำให้เครื่องยนต์มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักที่น้อยลงโดยที่การทำงานยังฉับไว เป็นระบบเดียวที่มีใน “รถสูตร” ของฮอนด้า อาทิ CRF450R ที่เพิ่งจะคว้าแชมป์แรลลี่ดาการ์ปีล่าสุด

เซ็นเซอร์จับการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยงเปลี่ยนใหม่มีความละเอียดกว่าเดิม ผลคือทำให้การจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง การจุดระเบิด สัมพันธ์และแม่นยำกว่าเดิม กำลังการตอบสนองของเครื่องยนต์ก็ทำได้ดียิ่งขึ้น

เซ็นเซอร์ไอเสียหรือที่เราคุ้นในชื่อ “โอทูเซ็นเซอร์” (O2 Sensor) เปลี่ยนใหม่เป็น AF Sensor (Air Fuel Sensor) ที่อ่านค่าเป็นกราฟเส้นคืออ่านค่าตลอดเวลา ต่างจาก O2 ที่อ่านเป็นกราฟจุด เมื่ออ่านค่าได้ละเอียดกว่าเดิม กี่เผาไหม้จึงสะอาดกว่าเดิม

ปลายท่อมีวาล์วแปรผัน คายไอเสียตามรอบเครื่องวยนต์

ปลายท่อไอเสียจะมี 2 รูและมีวาล์วแปลผัน รอบต่ำวาล์วจะเปิดไอเสียออกรูเล็กรูเดียว เมื่อใช้รอบสูงวาล์วจะเปิดให้ไอเสียออกทั้ง 2 รู ทำให้กำลังเครื่องยนต์มีความเหมาะสมในทุกรอบเครื่องยนต์ ทุกการสั่งการจากคันเร่ง  

เฟรม ช่วงล่างใหม่ และมาต่างกันในแต่ละรุ่น    

เฟรมออกแบบใหม่ เบากว่าเดิม เพรียวกว่าเดิม แต่แข็งแรงกว่าเดิม ช่วงล่างต่างกัน ในรุ่น Adventure Sports ช็อคอัพจะเป็นช็อค Upside Down ขนาด 45 มม.ของ Showa เป็นช็อคอัพไฟฟ้าในชื่อว่า Showa EERA (Electronically Equipped Ride Adjustment) ปรับ Preload และ Rebound Damping อัตโนมัติตามโหมดที่เลือกใช้ และปรับได้เองที่สวิทซ์แฮนด์ โดยดูค่าปรับตั้งบนเรือนไมล์ TFT ส่วนในรุ่นเกียร์ธรรมดาจะเป็นช็อคอัพ Showa แบบ Upside Down ขนาด 45 มม. เหมือนกัน แต่จะปรับPreload และ Rebound Damping ได้แบบ Manual  

หัวช็อคอัพด้านซ้ายมีสายไฟ เพราะเป็นช็อคอัพไฟฟ้า Showa EERA

ช็อคอัพหลังในรุ่น Adventure Sports เป็นช็อคแก๊สของ Showa เป็นช็อคไฟฟ้า Showa EERA ปรับ Compression และ  Rebound เช่นเดียวกับช็อคหน้า มีรีโมทแยกสำหรับปรับ Preload ด้วยมือ ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มอลูมิเนียมชิ้นเดียว(Monoblock) ด้วยระบบ Pro-Link   

เบรก ล้อ ที่ให้มา

ดิสก์เบรกหน้าคู่ ขนาด 310 มม. คาลิเปอร์ Nissin แบบเรเดียลเมาท์ 4 ลูกสูบ ดิสก์เบรกหลังขนาด 256 มม. คาลิเปอร์ Nissin  1 ลูกสูบ ทั้งหน้าหลังมากับระบบ ABS แบบ 2 Channel โดยสามารถปิดระบบ ABS ที่เบรกหลังได้

ล้อเป็นล้ออลูมิเนียมซี่ลวด วงล้อขนาด 21”x 2.15” ยางขนาด 90/90-21 วงล้อหลังขนาด 18”x4” ยางขนาด 150/70-18  รุ่น Adventure Sports เป็นล้อยางแบบ Tubeless ไม่มียางใน  ส่วนรุ่นธรรมดาหรือรุ่น MT ยังเป็นล้อที่ต้องใช้ยางใน น้ำหนักตัวรวมของเหลว รุ่น DCT 236 กิโลกรัม รุ่น MT น้ำหนักตัวจะอยู่ที่ 226 กิโลกรัม

ระบบ Electronic หรือ Safety System

เริ่มที่คันเร่งไฟฟ้า Throttle By Wire ที่ใช้ในแอฟริกา ทวิน ตั้งแต่ปี 2018 ปรับปรุงใหม่ มี Power หรือกำลังให้เลือกใช้ 4 ระดับ มีระบบช่วยขับขี่หรือ Safety System คือ Engine Brake Control ให้เลือก 3 ระดับ ระบบ HSTC (Honda Selected Toque Control) 7 ระดับ และปิดการทำงานได้ ระบบ Wheelie Control ปรับได้ 3 ระดับ และปิดการทำงานได้ ในรุ่น Adventure Sports ที่เป็นระบบ DCT ในโหมด S เองก็เลือกได้ 3 ระดับ

มีระบบ ABS Cornering อ่านค่าและทำงานได้ละเอียดมากขึ้น การตัดต่อกำลังเบรกละเอียดจนแทบไม่รู้สึก เมื่อใช้งานในโค้งก็สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ปิด ABS ที่ล้อหลังได้ , Rear Lift Control กันล้อหลังยก อันเกิดจากการเบรกหน้าที่รุนแรง ระบบจะผ่อนแรงคาลิเปอร์หน้าโดยอัตโนมัติ ให้เกิดความสมดุลและไม่เสียหลัก โดยทั้งหมดทำงานจากการอ่านค่าของ IMU (Inertial Measurement Unit) แบบ 6 แกน ที่จะอ่านมุมเอียง แรงเฉื่อยหรืออาการการต่างๆ ของรถ ร่วมกับเซ็นเซอร์ที่ล้อหน้าหลัง แล้วส่งไปยังกล่องควบคุม เพื่อสั่งการระบบช่วยเหลือขับขี่ Safety System ให้ทำงานได้อย่างแม่นยำ เหมาะสม

IMU ยังช่วยให้ระบบ DCT ทำงานได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อรถเลี้ยวโค้งหรือเอียง ระบบจะอ่านค่ามุมเอียง แรงเฉื่อย คันเร่ง ว่าเรากำลังทำอะไร ออกโค้ง เข้าโค้ง หรือเปิดคันเร่งออก และสั่งการระบบ DCT ต่อเกียร์ได้เนียนขึ้น รวมถึงไม่มีการขึ้นหรือลงเกียร์ในขณะรถเอียง ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังทำอะไร เรียกได้ว่าระบบฉลาดมากขึ้น

6 โหมดการขับขี่

โหมดขับขี่ให้มา 6 โหมด คือ Tour, Urban, Gravel, Off Road, User 1, User 2 ในแต่ละโหมดจะทำงานร่วมกับระบบช่วยเหลือขับขี่หรือ Safety System เป็นแพ็กเกจ มีค่าการทำงานที่ต่างค่ากัน ตามแต่ละโหมดที่เลือกใช้ ดังนี้

Tour เหมาะกับการเดินทางไกล บนทางดำ ไม่ว่าจะขี่คนเดียวหรือมีคนซ้อนหรือมีสัมภาระก็ตาม โหมดนี้จะให้กำลังเครื่องยนต์ (Power) สูงสุดคือระดับ 1 ระบบ Engine Brake Control ทำงานกลางๆ คือ ระดับ 2 ระบบ ABS Cornering ทำงานเต็มระบบ
Urban เหมาะกับการใช้งานทั่วไป มีกำลังเครื่องยนต์ระดับ 2 Engine Brake ระดับ 2 และระบบ ABS Cornering ทำงานเต็มระบบ
Gravel เหมาะขับขี่ในเส้นทางรองต่างๆ เส้นทางกรวดหรือทางลูกรังยาวๆ หรือเส้นทางที่มีความลื่นก็ใช้งานได้ ให้กำลังเครื่องยนต์ต่ำสุดคือระดับ 4 Engine Brake ระดับ 3 ระบบ ABS Cornering เซ็ตติ้งแบบเดียวกับโหมด Off Road แต่ไม่สามารถปิดระบบ ABS ททที่เบรกหลังได้
Off Road ตามชื่อครับ ลุยได้เลยในเส้นทาง Off Road กำลังเครื่องยนต์ระดับ 3 Engine Brake ระดับ 3 ระบบ ABS Cornering เซ็ตมาเพื่อใช้ในทาง Off Road โดยสามารถ “ปิด” ระบบ ABS ที่เบรกหลังได้ 

โหมด User 1 และ 2 สำหรับเซ็ตติ้งตั้งค่าต่างๆ ให้เหมาะสมกับสไตล์การขี่ของตัวเอง โดยสามารถเลือกกำลังเครื่องยนต์ได้ 4 ระดับ ระดับ Engine Brake เลือกได้ 3 ระดับ และ ระบบ ABS Cornering แบบ On Road หรือ Off Road

G Switch ปุ่มหรรษา ไม่มีคลัทช์มือ ก็เด้งได้

ในรุ่นเกียร์ DCT หรือในรุ่น Adventure Sports จะมีปุ่ม G Switch เพิ่มเข้ามาอยู่ใต้เรือนไมล์ สถานะการทำงานจะแจ้งที่หน้าจอ TFT โดยเมื่อเราเปิดใช้ G Switch ระบบจะหน่วงการเปลี่ยนเกียร์เอาไว้ สามารถลากหรือใช้รอบเครื่องยนต์ได้ยาวมากกว่าเดิม สามารถเดินคันเร่งในเกียร์ 1 ขึ้นเนินชันในทาง Off Road ได้ดี และถ้าปิด HSTC ปิด Wheelie Control สามารถยกล้อรถที่เป็นระบบ DCT ได้เลย ประโยชน์ก็สามารถยกเพื่อข้ามอุปสรรค์ในทาง Off Road ได้อีกนั่นแหล่ะ แต่ในรูปผมสาธิตให้ดูว่าระบบ DCT นั้นยกล้อได้จริง แม้ไม่มีมือคลัทช์ให้ดีด

ช็อคอัพไฟฟ้า Showa EERA (Electronically Equipped Ride Adjustment)

ในรุ่น Adventure Sports จะมีช็อคอัพไฟฟ้า ปรับแข็งอ่อนแบบ Real Time หรือตลอดเวลา อ่านค่าจากการขี่ของเรา การเบรก การเข้าโค้ง ฯ สามารถปรับเลือกการใช้งานได้อีก 3 แบบคือ ขี่คนเดียว ขี่มีคนซ้อน และมีสัมภาระ และยังทำงานร่วมกับโหมดการขับขี่ทั้ง 4 โหมดโดยมีค่าการทำงานของการยืด ยุบ คืนตัว ต่างกัน โดยค่าจะอยู่ที่กลางๆ ในแต่ละโหมด และปรับแบบองค์รวมได้คือ Hard, Medium, Soft และ Off Road แต่ถ้าต้องการความละเอียดหรือให้เข้ากับสไตล์หรือรูปแบบการขี่ ก็สามารถเข้าไปปรับตั้งได้ที่โหมด User 1 และ 2

เพรียวและ “แคบ” กว่าเดิม

TFT Touch Screen เหนือชั้นกว่า Goldwing

เรือนไมล์เป็น Multi Information Display แบบ TFT สีแถมยังเป็นหน้าจอ Touchscreen ทั้งรุ่น DCT และรุ่นเกียร์ MT หรือเกียร์ธรรมดา แต่ต่างฟังก์ชั่นกันเพราะในตัว DCT จะมี Suspension Control Unit หรือปรับตั้งช่วงล่างไฟฟ้าเข้ามาด้วย เรียกว่าเหนือกว่าเรือนไมล์ของ Goldwing พี่ใหญ่ของค่ายซะอีก  แต่การ Touch Screen ก็ไม่ใช้ว่าจะ Touch ได้ทั้งหมด จะจิ้มเลือกได้บางอย่าง บางอย่างต้องเข้าเมนูที่สวิทซ์แฮนด์อยู่ดี

มี Apple Car Play เท่าที่ผมเคยทดสอบรถ Honda Bigbike ก็นับเป็นรุ่นที่ 2 ต่อจาก Goldwing ที่ติดตั้งระบบนี้มาให้ บอกได้ว่าเป็นรถที่พร้อมเดินทางไกลด้วยความสุนทรียะในทุกกิโลเมตร สามารถเชื่อต่อกับสมาร์ทโฟน ใช้ App นำทางได้ รถยังเชื่อมต่อกับ Bluetooth ติดหมวกกันน็อค รับ-วาง สายเรียกเข้าได้ ตัวสมาร์ทโฟนหรือไอโฟนเชื่อมต่อที่ช่องชาร์จ USB ได้ สั่งงานได้ที่สวิทซ์แฮนด์

ช่อง ACC Chargers ชาร์จอุปกรณ์ภายนอก

ความไฮเทคยังไม่หมด Cornering Light ล่ะ คืออะไร?

แอฟริกา ทวิน ใหม่ ให้ระบบ Cruise Control มาทั้งรุ่นที่เป็นเกียร์ DCT และรุ่นเกียร์ธรรมดา เงื่อนไขการทำงานของรุ่น DCT คือใช้งานได้ตั้งแต่เกียร์ 3 และที่ความเร็ว 50 กม./ชม.ขึ้นไป ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา(MT) ใช้ได้ตั้งแต่เกียร์ 4 ขึ้นไป ระหว่างใช้สามารถเร่งแซงได้และเมื่อยกคันเร่งหรือปล่อยคันเร่งความเร็วจะกลับมาอยู่ที่เดิมที่เราตั้งไว้ การตัดระบบก็ทำได้หลายอย่าง ยกคันเร่ง บีบคลัทช์ บีบหรือเหยียบเบรก ฯ ปลอดภัยหายห่วง

Cornering Light สังเกตุไฟที่ด้านล่างของไฟหน้า จะติดเมื่อรถมีมุมเอียงทั้งซ้ายขวา หรือเมื่อเข้าโค้ง

ระบบ Cornering Light ไฟส่องในโค้งอัตโนมัติ ทำงานเมื่อเราเอียงรถเข้าโค้ง ประโยชน์คือเมื่อเราขี่ในเส้นทางมืดๆ ปกติเมื่อเลี้ยวโค้งไฟรถจะส่องตรงไปเสมอ ในขณะเลี้ยวหัวรถจะไม่เลี้ยวตามทำให้ไม่เห็นมุมในและมุมออกโค้งที่มืด ระบบ Cornering Light จะมาช่วยตรงจุดนี้ โดยไฟนี้จะมีข้างละ 3 ดวงใต้โคมไฟหน้า

เมื่อเอียงรถเข้าโค้งไฟ Cornering Light จะติดทีละดวงตามองศาความเอียงของรถ 3 ระดับ เอียงมากก็จะติดครบทั้ง 3 ดวง ซึ่งระดับองศาความเอียงที่ว่านี่ก็ถูกตั้งมาจากโรงงาน ทำให้เราเห็นมุมในของโค้งไปจนออกโค้งได้ เพิ่มความมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น

มี Daytime Running Light (DRL) ดีไซน์สวย มี Auto Cancelling Indicators ปิดไฟเลี้ยวอัตโนมัติ มี Emergency Stop Signal ไฟฉุกเฉินติดเมื่อเบรกกระทันทัน มีช่องชาร์จแบบ ACC ในรุ่น Adventure Sports จะมีระบบ Heated Grips หรืออุ่นแฮนด์ ชิลด์บังลมหน้าปรับได้ 5 ระดับแบบ Manual คือใช้มือปรับเอานี่ล่ะ ที่ปรับได้ไม่ใช่แค่สไลด์ยกตัวชิลด์บังลมขึ้นนะ จะเป็นการปรับองศามุมชันเพิ่มขึ้นด้วย การ์ดแฮนด์ก็จะใหญ่กว่ารุ่นเกียร์ธรรมดาด้วย

“Bike Lane พัทยา” จุดนัดเรา

ลองขี่กันเลย

ผมรับ 2020 All New Honda CRF1100L Africa Twin มาทดลองขี่ทั้ง 2 รุ่น คือทั้งรุ่น Adventure Sports ที่เป็นเกียร์ DCT และ รุ่นเกียร์ธรรมดา(MT) โดยรุ่น Adventure Sports ซึ่งพิมพ์ยาว ต่อจากนี้ผมจะเรียกสั้นๆ ว่า “รุ่น DCT” และผมก็ขี่รุ่น DCT นี้ยาวๆ  เน้นการเดินทางไกลเป็นหลัก เส้นทางในช่วง พรก.ฉุกเฉินเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงไปได้แค่เพียงพัทยา จ.ชลบุรี ด้วยเพราะไม่ไกล มีภูมิประเทศหลากหลายเหมาะในการทดสอบ

โค้ชพี่เล่ กับรุ่น MT

ส่วนรุ่นเกียร์ธรรมดา (ต่อจากนี้จะเรียก “รุ่น MT”) ทางเราได้รับเกียรติจาก “เจษฎางค์ โชตานา” ที่หลายคนคุ้นในนาม “อาจารย์เล่” หรือ “โค้ชพี่เล่” มาร่วมทดสอบ ด้วยดีกรีอดีตแชมป์เอ็นดูโร่หลายรายการ รวมไปถึงการลงแข่งขัน Down Hill ในยุคแรกๆ ของไทย ปัจจุบันนอกจากเป็นอาจารย์สอนขี่รถ Adventure และรถเอ็นดูโร่แล้ว ยังเป็นเจ้าของร้าน Bike Lane พัทยา ด้วยดีกรีที่ว่ามา และด้วยเพราะพี่เล่เป็นหนึ่งในคนที่ใช้แอฟริกาทวินลุยทาง Off Road มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ ขี่แนว Off Road ได้ถึงจริงบอกเลย

Firs Impression เริ่มที่ Adventure Sports และเกียร์ DCT

ในส่วนของผมจึงขอเล่าเกี่ยวกับการเดินทางไกลของรุ่น DCT ก่อนเลย ด้วยความที่ได้ขี่แอฟริกาทวินโฉมก่อนหน้าบ่อยพอสมควรโดยเฉพาะรุ่น DCT ในโฉม L1? … ต้องบอกก่อนว่า แอฟริกา ทวิน โฉมก่อนหน้านี้จะเรียกสั้นๆ กันว่า L1 และ L2 สำหรับ L1 คือรุ่นมาตรฐานจะมีทั้งเกียร์ MT และ DCT  ส่วน L2 คือตัว Adventure Sports ก็มีทั้งเกียร์ MT และ DCT เช่นกัน  และส่วนตัวผมก็ได้ขี่ L1 DCT เกือบทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรม X-Venture กับทาง Honda Bigbike มีครั้งสุดท้ายของปีที่แล้วนั่นละครับที่ได้จับ L2 DCT

ท่าขี่เปลี่ยนไปครับ สบายและมั่นใจมากขึ้น ความสูงของเบาะที่สูง 830 มม. (น่าจะเท่า L2 เดิม) แต่ด้วยเฟรมและซับเฟรมตรงช่วงขาหนีบที่ปรับให้แคบกว่าเดิม กระชับมากขึ้น แม้ถังน้ำมันเชื้อเพลิงของ Adventure Sports จะใหญ่ถึง 24.8 ลิตรก็ตาม และด้วยความจุขนาดนี้ฮอนด้าเครมว่า Adventure Sports วิ่งได้ไกลถึง 500 กม. ด้วยน้ำมันถังเชื้อเพลิงเดียว ส่วนในรุ่น MT ถังน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีความจุ 18.8 ลิตร

กับความสูงของผมเดิมที่ 172 ถ้าบวกกับใส่บูทโมโตครอสด้วย ก็สามารถเหยียบได้เต็มทั้ง 2 เท้า ความสูงของเบาะนั่งยังปรับลงได้ที่ 810 มม. คนตัวเล็กหรือสาวๆ ขี่ได้สบายๆ ความสูงใต้ท้องรถที่ 210 มม. นี่ก็เท่า L2 ลุยได้สบายๆ ครับ เพราะคนขี่ L2 โหดๆ หลายคนเอาไปลุยจนถึงฝั่งฝันมานักต่อนักแล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ “โค้ชพี่เล่” ที่มาร่วมทดสอบกับเรานี่ล่ะครับ (ส่วนเรื่องรถเตี้ยไปไหม ย้อนไปอ่านด้านบนครับ)

แฮนด์ให้ความรู้สึกเดิม แต่เหมือนจะมีความสูงขึ้นเล็กน้อยจากรุ่นก่อน ท่านั่งไม่ต่างจากเดิมนัก แต่เมื่อยืนขี่ตำแหน่งการควบคุมรถดีขึ้นกว่าเดิม ชิลด์บังลมทำหน้าที่ได้ดีเมื่อนั่งขี่ แต่สำหรับผมชิลด์บังลมที่ว่านี่จะสูงไปนิดเมื่อต้องยืนขี่โยกหน้าโยกหลังในทาง Off-Road เสี่ยงที่จะมาโดนหมวกกันน็อคอยู่นะ โดยรวมท่านั่งสบายเป็นมิตรมากกว่าเดิม(เดิมก็เป็นมิตรอยู่แล้วนะ) เข้าถึงได้ง่าย คล่อมแล้วรถไม่รู้สึกใหญ่ แถมน้ำหนักลงศูนย์ถ่วงต่ำทำได้ดี คล่อมแล้วยังพายขาออกแรงเข็นไม่ยาก (ถ้าไม่เข็นขึ้นเนินนะ)  

DCT และกำลังเครื่องยนต์

เครื่องยนต์มีกำลังมากกว่าเดิม แต่ก็มีความสมู้ทกว่าเดิมด้วยนะ โดยเฉพาะระบบเกียร์ DCT จักหวะต่อเกียร์เนียนนิ่มกว่าเดิม ส่วนฉลาดกว่าเดิมไหม? ยังแยกยาก แต่ก็แม่นยำ จะชัดเจนคือเวลาเข้าโค้งการส่งเกียร์เนียนขึ้นมาก รวมถึงมีการหน่วงรอบให้ใช้เอนจิ้นเบรกไม่ต่างจากรถเกียร์ธรรมดา

ใน D โหมด เกียร์ยังเข้าไวเป็นเรื่องปกติที่โรงงานเซ็ตมา คือเพิ่มเกียร์สูงขึ้นไวในที่รอบต่ำ จริงอยู่ว่าประหยัดน้ำมัน การสึกหรอต่ำ แต่สำหรับผมบางทีก็รู้สึกเร็วไปนิด(เหมือน L1,L2 นั่นแหล่ะ) แต่เราก็ใช้โหมด S ได้จะลากรอบได้ยาวขึ้น หรือกดเปลี่ยนเองเลยก็ได้สบายๆ สั่งได้ทุกอย่าง

ช่วงล่างไฟฟ้า

 ช่วงล่างรองรับการเดินทางไกลดีเลยล่ะครับ สำหรับรถที่ล้อกว้างและสูง แถมหน้ายางแคบเท่าๆ รถเอ็นดูโร่แบบนี้ เดินทางด้วยความเร็ว 140+ สบายๆ มากว่านี้ก็ได้นะ ในโค้งก็ยังคับเลี้ยวได้เบาแรง เลี้ยวง่าย …จากรุ่น L1 , L2 ผมเคยขี่ลากไป 180-200 บ่อยครั้งก็ ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้ามีปี๊บข้างก็จะเป็นปัจจัยให้รถไม่นิ่งได้ ปี๊บส่งผลกับรถประเภทนี้เกือบทุกรุ่นแหล่ะครับถ้าใช้ความเร็วขนาดนั้น ประเภทยางที่เลือกใช้ก็ด้วย (ล้อยาง Adventure Sports เป็น Tubeless แล้ว ปลอดภัยกว่าในการเดินทางไกล และน่าจะหายางได้ง่ายขึ้น)

ด้วยช่วงล่างไฟฟ้าที่ปรับได้ ยิ่งทำให้เราสะดวกที่จะเลือกใช้ให้เหมาะกับการใช้งาน แต่ที่สบายกว่าคือการปรับให้เหมาะกับการใช้งานแบบ Real Time อาจไม่รู้สึก แต่ที่ไม่รู้สึกนั่นเพราะช่วงล่างไฟฟ้าจัดการให้อย่างดี แม้จะอยู่ในค่ากลางๆ ก็ตาม รวมถึงยังเลือกโหมดได้ว่าจะขี่คนเดียว ขี่มีคนซ้อน ขี่มีคนซ้อนและสัมภาระ แบบเดียวกับ Goldwing เลย แต่อยากได้เฉพาะเจาะจงก็เข้าไปปรับเองได้ตามใจชอบ ไม่ใช่ปัญหา

หน้าจอ TFT สวยเห็นชัดเจน บอกการทำงานทุกสิ่งอย่าง กดเลือกการทำงานของระบบต่างๆ ได้ที่หน้าจอเลย แต่ไม่ทุกฟังก์ชั่นนะครับ บางฟังก์ชั่นต้องเข้าเมนูโดยใช้สวิทซ์แฮนด์ด้านซ้ายควบคุมอยู่บ้าง ก็ไม่ใช่ปัญหานะ เรือนไมล์ของรถประเภทนี้หลายรุ่น  Touchscreen ไม่ได้ด้วยซ้ำ … แอฟริกา ทวิน ให้จอ TFT Touch Screen มาถือว่าเหนือชั้นครับ

ไฟ Cornering Light ทำงานตามมุมเอียงของรถที่ฮอนด้าได้บอกไว้ ซึ่งตอนขี่ทดสอบเราขี่กันตอนกลางวันผมจึงไม่เห็นความต่าง หรือไฟที่ว่านี่ทำงานไหม ก็มีแต่ตากล้องครับที่เห็นตลอด จนผมได้เห็นรูปถ่ายรวมถึงฟุต VDO ก็เห็นได้ว่ามันทำงานตลอดเวลา อุ่นใจได้ (ดูได้จากรูป)

G-Switch

G-Switch มีติดมาตั้งแต่ในรุ่น DCT โฉมก่อน การทำงานยังเหมือนเดิมครับ คือการเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนเกียร์ของระบบ DCT เพื่อให้สามารถลากรอบในเกียร์ 1 ได้ยาวขึ้น มีกำลังในรอบต่ำมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ผมอธิบายการทำงานไปแล้วในย่อหน้าต้นๆ ก็ยังทำงานได้อย่างน่าประทับใจ มีไว้ถ้าขี่ Off Road ได้ใช้แน่นอน

ในรุ่น DCT ยังมีก้านเบรกมือที่แฮนด์ด้านซ้าย ตำแหน่งเดียวกับมือคลัทช์ของรถแบบมีเกียร์ แต่จะกว้างกว่าคือต้องกางมือเยอะหน่อย ประโยชน์ก็ตามชื่อครับ “เบรกมือ” ในรถ DCT ไม่สามารถ “คาเกียร์” ไม่ให้รถไหลได้แบบเกียร์ธรรมดา จึงมีเบรกมือเข้ามาช่วย ที่สะดวกกว่าคือเครื่องยนต์ดับ แถมปล่อยมือทั้ง 2 ข้างจากแฮนด์ได้ ปล่อยขาจากแป้นเบรกได้ รถก็ไม่ไหลลงไป ใช้ได้ดีมีประโยชน์ไม่ว่าจะบนทาง On หรือ Off Road

กลับกันในทาง Off Road ที่ต้องขี่ลงชันและลื่นมากๆ รถ DCT ไม่สามารถดับเครื่องและตัดต่อคลัทช์เพื่อไหลลงได้แบบรถเกียร์ MT ซึ่งผมเคยเจอมากับตัวเอง เราสามารถคอนโทรลหรือเลียเบรกหน้าลงมาได้เลยครับ โดยจะดับหรือไม่ดับเครื่องยนต์ก็ตามใจเลย ด้วยที่เบาะนั่งที่ไม่สูงในทางลื่นและชันมากๆ สามารถเอาเท้าลงช่วยประคองรถได้ทั้ง 2 ข้างเลยก็ได้ หรือใช้เท้าขวาเลียเบรกหลัง เท้าซ้ายช่วยประครองค่อยๆ ไหลลงมาก็ทำได้

กลับกันเมื่อต้องขึ้นเนินชันลื่นๆ ก็เล็งไลน์และเร่งเครื่องขึ้นเลยครับ 2 ขาที่เหยียบถึงพื้นช่วยประครอง G-Switch ช่วยหน่วงเกียร์ ไม่ต้องพะวงกับคลัทช์หรือเครื่องจะดับ ก็ถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างของ DCT หรือจะกดเป็นโหมด Manual เพิ่มลดเกียร์เองตามใจได้เลย

มาดูรุ่นเกียร์ธรรมดา (MT) บ้าง

หน้าตา ดีไซน์ ต่างกันชัดเจน ชุดสีชุดพลาสติกต่างๆ ใช้ด้วยกันไม่ได้เลยก็ว่าได้ ชิลด์บังลมต่ำ(มาก)เอื้อต่อการยืนขี่ Off-Road มาก ไฟหน้าเหมือนกันแต่ไม่มี Cornering Light เรือนไมล์เหมือนกันแต่ไม่มีฟังก์ชั่นเช็ตอัพช็อคอัพไฟฟ้า ช็อคอัพปรับตั้งได้เองทั้งหน้าหลังไม่มีระบบฟ้า การ์ดแฮนด์เล็ก ท้ายรถเพลียวมาก ส่วนตัวผมชอบ สวยนะ และในรุ่น MT นี้ล้อยางยังเป็นแบบใช้ยางในนะ

บททดสอบตัว MT ผมจึงเป็นบทความของ “โค้ชพี่เล่” ที่ได้ทดสอบในทาง Off-Road บทความนี้ยังได้โพสใน Jetsadang le Chotana เฟซบุ๊คส่วนตัวของโค้ชพี่เล่เองด้วย มาอ่านบททดสอบกันเลยครับ

“ความรู้สึกแรกที่เจอกัน เปรียบเทียบกับ L1 เล็กลงกว่าเดิมอย่างเห็นใด้ชัด ด้านท้ายโล่ง ชิลด์หน้าสั้น เบาะแคบ ส่วนสูงน้อยกว่า L1 หน้าจอ เรือนไมล์ ทันสมัยสุดๆลูกเล่นเพียบ ทรงของถังน้ำมัน ลาดต่ำลง ซับเฟรมหลังถอดใด้ ท่อไอเสียใหม่ รวมๆจากที่เห็น สวยเพรียวกว่าเดิม …ลองนั่ง เบาะและถังน้ำมันใหม่ทำให้การนั่งกระชับขึ้นและแคบกว่าเดิม วางเท้าใด้เต็มฝ่าเท้า อะๆอย่าเพิ่งดราม่า ว่ารถเตี้ย ลองขี่กันก่อน

เปิดกุญแจ

“ภาพที่ขึ้นหน้าจอเหมือนมีทีวีส่วนตัว ตื่นเต้น เร้าใจ ลองเล่นและปรับโหมดต่างๆใช้เวลาสร้างความคุ้นเคย สักพัก เข้าใจได้ไม่ยาก แรกๆอาจจะมีเคอะเขินกันบ้างกดผิดกดถูกไปเรื่อย มันต้องใช้เวลา การปรับเปลี่ยนโหมดต่างๆ สามารถเปลี่ยนได้จากสวิตช์ที่มือซ้ายหรือจากการสัมผัสที่หน้าจอโดยตรง ตำแหน่งของสวิตช์ไฟเลี้ยวและแตรมีการเปลี่ยนตำแหน่ง อย่าง งง”

ลองขี่ Off Road (ปรัปโหมด Off Road )

“หาความรู้สึก วนไปวนมา บอกก่อนนะว่าเดิม เดิมยันลมยาง รู้สึกดีมีความเป็นมิตร ควบคุมง่าย กำลังของเครื่องยนต์ บอกตรงๆ ว่าไม่สามารถบอกได้ว่าต่างจาก L1 เท่าไหร่ เพราะการขี่แบบOff Road กำลังจาก L1 ก็มากจนเหลือแล้ว ข้ามเรื่องกำลังไปเลย แต่สิ่งที่หลายคนเป็นกังวล ก็น่าจะเป็นเรื่องของช่วงล่าง ที่บ่นกันว่าเตี้ย ส่วนตัวผู้ทดสอบมีความสูง175 cm. เวลาจอดรถสามารถวางเท้าได้เต็มฝ่าเท้าเพิ่มความมั่นใจเวลาขี่ ชิลด์หน้าสั้น ชอบมาก เพราะเวลาขี่สามารถโฟกัสเส้นทางได้ชัดเจนไม่หลอกตา”

ลองลุยหนักๆ

“สบายและเบากว่า L1 ไปได้หมด แต่ แต่ แต่ ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ขับขี่ด้วย เรื่องช่วงล่างที่ว่าเตี้ย ก็ไม่ได้มีปัญหา แต่กลับสร้างความมั่นใจให้ผู้ขับขี่มากขึ้นด้วย”

รถรุ่นนี้เหมาะกับใคร? ข้อสรุปสั้นๆ จากโค้ชพี่เล่

“น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ขี่ Enduro แล้วกำลังจะขยับขึ้นไปขี่รถ Adventure แต่ยังต้องการความสนุกของการลุยอยู่แล้วและก็มีเพิ่มเรื่องของการเดินทางที่ไกลมากขึ้นด้วย หรือกลุ่มคนที่นิยมการขี่รถท่องเที่ยวแบบ Adventure มากกว่าการขี่บนถนนดำ เพราะตัวรถออกแบบให้มีการขี่แบบ Off Road มากกว่า การขี่แบบ On Road หรือถ้าคุณคิดว่าจะเดินทางสายAdventure หรือเอาไว้ขี่เพื่อบอกคนอื่นว่าเรา สายลุยโว้ยย ก็ไม่ว่ากัน”

2020 All New Honda CRF1100L Africa Twin รุ่น Adventure Sports DCT ราคา 699,000 บาท
2020 All New Honda CRF1100L Africa Twin รุ่นมาตรฐานเกียร์ MT ราคา 559,000 บาท

Conclusion สรุปจากผมบ้าง

ต้องบอกเลยว่าดีกว่ารุ่นเดินในทุกด้าน ก็แน่ล่ะรุ่นใหม่ก็พัฒนาขึ้น เหมาะกับคนที่ต้องการรถ Adventure Touring จริงๆ คือรถที่สามารถเดินทางไกลพร้อมกับให้ความสะดวกสบายต่อผู้ขี่และผู้ซ้อนได้อย่างดี มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยขับขี่ที่ทันสมัยตรงโจทย์ตรงสไตล์รถ สามารถแวบลงไปในทาง Off-Road เพื่อการเที่ยวที่ไกลกว่าได้ทันที กำลังเหลือเฟือ แต่ประหยัด นี่คือ Adventure Touring รุ่นใหญ่อย่างแท้ทรู ตามสโลแกนและคำยกย่องจากสื่ออังกฤษ และรุ่นใหม่นี้คนไทยขาสั้นยังขี่ได้อย่างมั่นใจในทุกเส้นทาง หมดห่วงอาการพื้นหาย ส่วนความสูงใต้ท้องรถนั้นโค้ชพี่เล่ได้พูดถึงแล้ว

ข้อสังเกต

บางอย่างก็ต้องมีขัดใจบ้าง สำหรับผมอย่างแรกความไวของหน้าจอ TFT เมื่อบิดกุญแจสตาร์ท ยังทำงานช้าอยู่พอสมความ ถ้าจะปรับนู่นนี่นั่น เพื่อนคงออกตัวไปก่อนแล้ว อันนี้ก็หวังว่าจะมี Firmware มาแก้ไขในอนาคต … และขาตั้งคู่ ไม่มีให้มาทั้ง 2 รุ่น เซอร์วิสรถเองจะลำบากหน่อย ยางแบบยังใช้ยางในในรุ่น MT ส่วนตัวถ้ามันรั่วในป่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจะยุ่งยากหน่อย คืออาจต้องพกชุดปะหรือยางในสำรอง ถ้า Tubeless โดนตำยังสามารถขี่ออกต่อได้ หรือแทงหนอนได้ไม่ยาก

แต่! เดี๋ยวก่อน? ในทางกลับกันถ้ารั่วจนลมหมดหรือแตกก็อาจจะแก้ไขได้ยากกว่าเมื่ออยู่ในป่า ยางแบบมียางในอาจจะปะตามร้านข้างทางธรรมดาได้ หรือพกไปเปลี่ยนก็ง่ายกว่า นี่ไม่ต้องพูดถึงแก้ไขด้วยการเอาใบไม้ยัดในล้อแล้วขี่ออกจากป่านะ ฮ่าๆ

อย่าลืมเข้าไปกดติดตามเพื่อเป็นกำลัใจกันที่ Youtube กันด้วยนะครับ มีการทดสอบใหม่ๆ จะได้ดูก่อนใคร

Special Thank

  • บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด , Honda Bigbike Excites The World
  • “โค้ชพี่เล่”  ไบค์เลน พัทยา อุปกรณ์แต่งรถ แต่งคน สอนขี่รถ Enduro และ Adventure Touring คลิกตรงนี้เลย
  • ชุดขับขี่ Rev’it หมวกกันน็อค Caberg X-Trace จาก Panda Rider Safe The World

คลิป VDO ทดสอบ CRF1100L คลิกตรงนี้ (รอสักครู่)
ประวัติความเป็นมาของ Africa Twin คลิก
X-ADV 750 กับเกียร์ DCT ลุยได้ ไปไหนไปกัน คลิกตรงนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่