[เก๋าว่ะ] TL1000S และ TL1000R รถสปอร์ตเครื่อง V-Twin ปฐมบทจากซูซูกิ

0

Suzuki รถที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่ดุดัน รถสปอร์ตรหัส TL1000S และ TL1000R กับเครื่องยนต์แบบ V-Twin(L-Twin) ที่น่าจะตอบสนองได้โหดที่สุด ในคลาสเลยก็ว่าได้ “เก๋าว่ะ”ตอนนี้ ผมจะพามาย้อนอดีตทำความรู้จักกับรถระดับตำนานทั้ง 2 รุ่นนี้กันหน่อย

รถสปอร์ตญี่ปุ่นที่ยัดเครื่องยนต์แบบ V-Twin หรือ L-Twin ในยุค 90 ตอนกลางและปลาย ได้รับอิทธิพลมาจากรถสปอร์ตชั้นดีจากอิตาลีนามว่า Ducati 916 ที่เผยโฉมให้โลกทั้งโลกได้ฮือฮาในปี 1994 ถือเป็นจุดพลิกวงการในขณะนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยชัยชนะใน WorldSBK หลายสมัย ความลงตัว ความสมบูรณ์แบบทั้งดีไซน์และเทคโนโลยี

เป็นเหตุทำให้ค่ายรถจากญี่ปุ่นต้องพัฒนารถสปอร์ตเครื่องยนต์ V-Twin 1000 ซีซี มาแทนที่รถ 4 สูบ 750 ซีซี กันเลย แต่ซูซูกิยังพัฒนาตัว 750 อยู่นะ ซึ่งในปีก็ออกทีเด็ดมาในรหัส GSX-R750 SRAD ก่อน TL1000S เพียง 1 ปีเท่านั้น แล้วผมจะมาเล่าเรื่องราว GSX-R 750 ให้ได้อ่านกันอีกทีครับ

Suzuki TL1000S (TLS)

TLS ผลิตออกสู่ตลาดในปี 1997 ด้วยชื่อเสียง(มั๊ย) ของซูซูกิกับรุ่น GSX-R ตั้งแต่ช่วงปลาย ค.ศ 80 จนมากลางยุค 90 เป็นรถที่แรงและควบคุมได้ยาก ไม่ใช่แค่ 750 นะตัว 1100 ก็ด้วย และก็คือที่มาของคำว่า “รถคนบ้า” แต่มาแก้ลำได้ใน GSX-R750 SRAD ปี 1996 ที่เป็นรถยุคใหม่ เร็ว แรง ควบคุมได้ง่ายขึ้น ต่างจาก GSX-R รุ่นก่อนๆ

ที่โยงไปในรหัส GSX-R เพราะ TL1000S ได้รับอิทธิพลความดิบโหดและควบคุมได้ยากติดตัวมาด้วย!! เครื่องยนต์ V-Twin ทำมุม 90° DOHC 8 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบ 996 ซีซี ให้กำลังสูงสุด 125 แรงม้าที่ 8,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 105 นิวตันเมตรที่ 8,000 รอบ/นาที จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด EFI

โช้คอัพหน้าเป็น Upside Down ขนาด 43 มม. แต่ที่พิเศษคือการออกแบบแขนกระเดื่องและการวางตัวของโช้คอัพหลัง คือตัวโช้คหลังจะวางเอียงและอยู่ด้านขวาของสวิงอาร์มผ่านสูบหลังไปยึดกับเฟรม

โดยจะมีแขนกระเดื่องซับแรง Rotary Damper เป็นจุดหมุนยึดอยู่ด้านซ้ายเชื่อมต่อกับตัวโช้คอัพ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ในตอนนั้นทางค่ายเขาโม้ว่าเป็นแบบเดียวกับรถแข่ง F1 ใช่หรือเปล่าอันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ

ด้วยที่เป็นรุ่นแรกทำให้ผู้ที่ซื้อไปใช้รวมถึงทางค่ายเองเจอปัญหาอยู่พอสมควร มีการ Recall กลับมาแก้ไขด้วยนะ โดย TLS ผลิตและจำหน่ายต่อจนถึงปี 2001

ต่อจากนั้นกระแสก็ตีกลับ กลายเป็นว่าความดิบเถื่อนไม่สมบูรณ์ของ TL1000S เป็นที่ต้องการ “นักขี่” ทั่วโลกขึ้นมาซะงั้น ทำให้หลายคนหาซื้อมาสนอง Need ทั้งขี่ทั้งแต่ง รวมถึงเก็บ จนถึงปัจจุบัน

TL1000S กับ VTR1000F firestorm คู่ชกตรงรุ่น
TL1000R

Suzuki TL1000R (TLR)

TL1000R ถูกผลิตขึ้นในปี 1998 หลังจาก TLS เพียง 1 ปี กับการแก้ไขอัพเกรด เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด คือเป็นคนละรุ่นกับ TLS เลย ที่แน่ๆ ดีไซน์สวยเฉียบขาดถูกใจสายสปอร์ตอย่างมาก ตรงกับรหัส R หรือ Race ที่ต่อท้ายชื่อรุ่น เพื่อต่อกรกับรถสปอร์ต V-Twin จากอิตาลี ที่ขยับหนีไปเป็นรุ่น 996 ในปี 1999 รวมถึงคู่แข่งโดยตรงจากญี่ปุ่นในเวลานั้นคือ VTR1000F  

เครื่องยนต์และ ECU ถูกอัพเกรดขึ้นไปอีกขั้น

เครื่องยนต์ V-Twin ทำมุม 90° DOHC 8 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปริมาตรกระบอกสูบ 996 ซีซี กำลังสูงสุดขยับขึ้นไปเป็น 135 แรงม้าที่ 9,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 106 นิวตันเมตรที่ 7,500 รอบ/นาที จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยระบบหัวฉีด EFI มีขนาดลิ้นปีกผีเสื้อขนาด 52 มม.

TLR ยังได้รับเทคโนโลยี SRAD (Suzuki Ram Air Direct) และยังได้ครอบท้ายดีไซน์ “ลูกหนำเลี้ยบ” จาก GSX-R750 SRAD มาเต็มๆ  

เฟรมใหม่ สวิงอาร์มใหม่ ระบบกันสะเทือนหลังยังคงเป็น Rotary Damper

เฟรม สวิงอาร์ม เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด โช้คอัพหน้าแบบ Upside Down ขนาด 43 มม. ปรับ  spring preload, rebound และ compression damping ส่วนระบบกันสะเทือนหลัง Suzuki ยังใช้เทคโนโลยีเดียวกับตัว TL1000S ที่ผมเขียนไปแล้วด้านบน แต่ตัวโช้คอัพ จุดยึด มีการปรับเปลี่ยนใหม่ สวิงอาร์มก็แบบใหม่มีดามล่างเพิ่มความแข็งแรง หรือในยุคนั้นเรียกสวิงอาร์มแบบนี้ว่า “สามเหลี่ยมคว่ำ”

ด้วยเฟรม สวิงอาร์ม ช่วงล่างใหม่ การควบคุมก็ดีกว่า TLS ชัดเจน จนซูซูกินำ TL1000R มาลงแข่งในรายการแข่งหลายรายการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จนัก ทั้งการควบคุมที่ดีขึ้น กำลังเครื่องยนต์เหนือกว่าสปอร์ต V-Twin ในยุคเดียวกันก็จริง แต่โดยรวมก็ยังไม่ลงตัวเมื่อลงสนามแข่ง แม้กติกาในรายการ WorldSBK จะ “เอื้อ” ให้เล่นได้ก็ตาม ค่ายจากญี่ปุ่นด้วยกันกลับกลายเป็นทาง Honda VTR1000 (RVT) SP1 และ SP2  ที่ประสบความสำเร็จกับเครื่องยนต์ประเภทนี้มากกว่า

กรอบสี่เหลี่ยมด้านข้างแฟริ่งนั่นคือตำแหน่งเก็บแบตเตอรี่

แต่ด้วยดีไซน์ที่สวยโดดเด่น การตอบสนอง ความแรงของเครื่องยนต์ V-Twin ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การควบคุมที่ดีขึ้นจาก TLS แต่ในทีนี้ยังพยศ โดด ดิบ เด้ง อยู่นะ กลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว รวมถึงของแต่งที่มีออกมามากมาย ด้วยเพราความนิยมในญี่ปุ่นเองที่มีมากขึ้น(ของแต่งจากญี่ปุ่นจึงมากขึ้นตาม) ลามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

TL1000R เลิกผลิตไปในปี 2004 หลังจากกติกาในรายการแข่ง WorldSBK เปลี่ยนกฎอีกครั้ง ที่ให้รถแข่งมีปริมาตรกระบอกสูบไม่เกิน 1000 ซีซี ไม่ว่าจะมีกี่สูบก็ตาม เมื่อซีซีเท่ากันรถแบบ 4 สูบได้เปรียบรถแบบ 2 สูบ สอดคล้องกับรถ Prototype ในรายการแข่ง MotoGP ที่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็นแบบ 4 จังหวะ(ปี2002) ค่ายรถต่างๆ จึงหันมาพัฒนารถแบบ 4 สูบกันต่อ

แต่เครื่องยนต์แบบ V-Twin ของซูซูกิก็ได้รับการพัฒนาต่อ ปรับให้เหมาะกับรูปแบบของรถและนำมาใช้ในรถหลายรุ่น เช่น Suzuki V-Strom 1000 รถสไตล์ Adventure Touring, Suzuki SV1000 รถสไตล์ Naked Bike เป็นต้น

TL1000R กลายเป็นหนึ่งในรถระดับตำนานของซูซูกิ ปัจจุบันยังเป็นรถในฝัน เป็นที่ต้องการของใครหลายคน ผมเองมีโอกาสได้ขี่ไม่กี่ครั้ง ติดใจในความเป็นเอกลักษณ์ ทุกอย่างเลย เสียงท่อก็ด้วย สนั่นลั่นทุ่ง การตอบสนองโหด ดิบ เป็นเอกลักษณ์ การควบคุมดี แต่ควรมีทักษะมาพอสมควรถึงจะเล่นได้มันส์    

ผู้เขียนกับกาลครั้งหนึ่งที่ได้สัมผัส TL1000R ตื๊ดมาก ขอบอก

คอนเทนต์ “เก๋าว่ะ” ของเราก็ได้มาต่อตอนที่ 2 แล้ว ขอบคุณที่ติดตามกดไลค์ กดแชร์ เป็นกำลังใจได้เลยคร้าบ  ในช่วงพิษไวรัส “โควิด 19” ถ้ามีเวลาผมนายเก่งจะหาเรื่องราวรถในความทรงจำของผมและใครหลายๆ คนมาเล่าให้อ่านกันอีกแน่นอน

[เก๋าว่ะ] CBR400RR(NC29) และ VFR400R(NC30) สปอร์ต 400 ซีซี ที่ฮิตที่สุด คลิก
คลิป รีวิว ทดสอบ ท่องเที่ยง คลิก

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่