[รีวิว]ละเอียดชัดๆ กับ New Honda CBR250RR เรซซิ่ง เรพริก้า รหัสพิเศษเมดอินเจแปน

0
“รถสปอร์ต” ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ถือได้ว่าเป็นสไตล์รถยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกก็ว่าได้ เทคโนโลยีการขับขี่ที่ทันสมัยก็จะเริ่มมาจากรถสปอร์ต ทั้งจากรายการแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็คือรายการ MotoGP และ Honda เองก็เป็นผู้นำรถสปอร์ตในขณะนี้ การันตีด้วยสถานะแชมป์โลก MotoGP หลายสมัยเทคโนโลยีต่างๆ ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จนมาถึง New Honda CBR250RR สปอร์ตเรพริก้าเต็มรูปแบบ ที่เราจะรีวิวกันในครั้งนี้ด้วย!!

ฮอนด้าจัดทดสอบใหญ่ที่สนามช้างฯ

บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด จัดกิจกรรมใหญ่ให้สื่อมวลชนได้ทดสอบ Honda CBR250RR ครั้งแรกที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และยังเปิดให้ลูกค้าผู้ที่จองซื้อ Honda CBR250RR ในงานมอเตอร์โชว์ 2019 และลงทะเบียนไว้ มารับมอบกุญแจรถจากคุณอารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด พร้อมได้ร่วมขับขี่ที่สนามช้างฯ กันแบบ Exclusive อีกด้วย

New Honda CBR250RR

RR รหัสพิเศษ มีความหมาย

RR ย่อมาจาก Racing Replica คือรถรหัสพิเศษของฮอนด้า ที่ถอดแบบมาจากรถแข่งทั้งดีไซน์ สมรรถนะ ไปจนถึงการผลิต ซึ่งรหัส RR มีความเป็นมาตั้งแต่ในช่วงปี 1988 เป็นปีแรกที่มีการจัดแข่งขันรายการ World Superbike (WSBK) รถ Production bike หรือรถผลิตเพื่อขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกติกาที่ว่าต้องเป็นเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ถ้าเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบจะต้องมีขนาดไม่เกิน 750 ซีซี และถ้าเป็น 2 สูบจะไม่เกินขนาด 1,000 ซีซี มาแข่งขันกัน (ปัจจุบันกฎกติกาและรุ่นและขนาดของรถที่ผลิตมาก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย)

New Honda CBR250RR

อ้าวแล้ว MotoGP ล่ะ?

ไหนๆ ก็พูดถึงว่ารายการ WorldSBK ที่ผมบอกว่าเป็นรายการแข่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งของโลกแล้ว ก็ขอนอกเรื่องไปรายการ MotoGP ซะหน่อย รายการแข่งขันรถจักรยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังเป็นรายการ MotoGP นั่นแหล่ะ แต่ในรายการ MotoGP หรือในสมัยนั้นเรียกว่า WorldGP จะเป็นการแข่งขันรถ Prototype หรือรถต้นแบบที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแข่งขันโดยเฉพาะ(ถ้าในวงการ 4 ล้อก็เหมือนรายการ Formula 1)

NSR500
Michael Doohan กับ Honda NSR500 ในรายการ WorldGP หรือ MotoGP ในปัจจุบัน

และในสมัยนั้นรถแข่งรายการ MotoGP หรือ WorldGP ก็จะเป็นรถเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ  ซึ่งแตกต่างจากรายการ WorldSBK ชัดเจน …ภายหลัง WorldGP เปลี่ยนกฎเป็นเครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะและชื่อรายการว่า MotoGP อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

VFR750R
Fred Merkel กับ Honda VFR750R (RC30) แชมป์โลกรายการ WorldSBK ปี 88-89 สองปีแรกที่เริ่มจัดแข่งรายการ WorldSBK
ฮอนด้าประเดิมแชมป์โลกในรายการ WorldSBK

และในปี 1988 และ 1989 ที่เริ่มจัดแข่ง WorldSBK ฮอนด้าก็สามารถประเดิมคว้าแชมป์โลกไปได้ 2 ปีติดด้วยรถ Honda VFR750R (RC30) เป็นรถที่มีเครื่องยนต์ V 4 สูบ ฮอนด้าก็ได้นำเทคโนโลยีนี้ถ่ายทอดสู่รถที่จะทำขาย พร้อมใส่รหัส RR ลงใน Honda CBR400RR (NC23) ปี 1988 รถสปอร์ต 4 จังหวะ 4 สูบเรียงตัวขายตัวแรก (จริงแล้วรถรหัส CBR ที่ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบหรือ CBR400 ผลิตมาขายตั้งแต่ปี 1983 แล้ว แต่รหัสต่อท้ายยังไม่ใช่ RR)

CBR400RR
Honda CBR400RR โมเดลที่เป็นรหัส RR และเป็นที่นิยมในไทย
400 ซีซี 4 สูบ สปอร์ตสองพี่น้องยอดนิยมทั่วโลก

ถ้าจะพูดให้ยาวไปอีกนิดคือ Honda จะมีสปอร์ตรถขนาด 400 ซีซี 2 รหัสหลักๆ ที่ออกมาคู่กัน คือ CBR400 และ VFR400 คามต่างคือเครื่องยนต์ในรหัส CBR จะใช้เครื่องแบบ Inline 4 สูบเรียง แต่ถ้าในรหัส VFR จะใช้เครื่องยนต์ V 4 สูบ ซึ่งเป็นรถสปอร์ตที่ได้รับความนิยมทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย โดย CBR400RR(ที่ต่อท้ายด้วย RR) ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง จะเริ่มในปี 1988 ในรหัส NC23 จนมาถึง NC29 ช่วงปี 1990-1994 (หรือ 96 ผมก็ลืมเลือน ขออภัย) เป็นรหัสสุดท้ายของสายการผลิต

Honda VFR400R
Honda VFR400R เครื่องยนต์แบบ V4 ที่ออกในช่วงปี 88 – 93 คู่กันมากับ CBR และ NC30 ก็เป็นหนึ่งในรถยอดนิยมตลอดกาล

ทางฝั่ง VFR400R เครื่องยนต์ V4 เหน็บ “โปรอาร์ม” ก็จะเป็น NC24 ในปี 1988 และเปลี่ยนเป็น NC30 ยอดนิยมในปี 1989 – 1993 จนมาเป็น RVF400R หรือ NC35 ในปี 1994 ถึง 1996 ก็ยุติสายการผลิต ซึ่งทั้ง CBR และ VFR เป็นรถสปอร์ตเรพริก้าหรือเรซซิ่งเรพริก้าเต็มรูปแบบ

CBR250RR MC22
Honda CBR250RR (MC22) เครื่องยนต์ 4 สูบเรียง เมื่อปี 90-94
CBR-RR เรซซิ่ง เรพริก้า จากญี่ปุ่น

วกกลับมา CBR-RR กันต่อ นอกจาก CBR400RR ฮอนด้าก็ออกรถที่มีรหัส RR ต่อท้ายมาอีกหลายรุ่นคือ Honda CBR250RR ที่เป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ โดยรหัส RR จะอยู่ในช่วงปี 1990-1999 , Honda CBR600RR, Honda CBR900RR จนถึง Honda CBR1000RR สปอร์ตตัวท็อปของค่าย

New Honda CBR250RR

ทุกรุ่นผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น จนมาถึง All New Honda CBR250RR  ที่เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบ 2 สูบเรียงที่เราเห็นอยู่นี่นั่นเอง  ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามาโดยตลอดทำให้เครื่องยนต์ขนาด 250 ซีซี 2 สูบในปัจจุบัน เหนือกว่าเครื่องยนต์ 250 ซีซี 4 สูบเรียงในอดีตหลายอย่าง อย่างแน่นอน

New Honda CBR250RR

โมเดลขายไทยคือโมเดลที่ผลิตและนำเข้าจากญี่ปุ่น

Honda CBR250RR ใหม่ เปิดตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2016 และในปี 2017 ก็เป็นรถแข่งในรายการ Asia Road Racing แทนที่ CBR250R สูบเดียวเกือบทุกทีม (ทีมไทยก็ยังไม่ได้ใช้นะ) ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นตาในทีมแข่งของประเทศอินโดนีเซีย

New Honda CBR250RR

เพราะ Honda CBR250RR นอกจากจะผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการผลิตที่อินโดนีเซียด้วย เพราะอินโดนีเซียถือเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง มีโรงงานผลิตเพื่อขายในประเทศเป็นหลักมีส่งออกบ้าง แล้วแต่เงื่อนไขข้อตกลงของแต่ละบริษัทค่ายรถในแต่ประเทศ

New Honda CBR250RR

Made in Japan ที่สุดของโลกก็ว่าได้

แต่สำหรับ New Honda CBR250RR ที่ขายในประเทศไทย เป็นรถที่ถูกผลิตและนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น เพราะ บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด นอกจากผลิตรถจักรยานยนต์ฮอนด้าเพื่อขายทั้งในประเทศและทั่วโลกแล้ว การนำเข้ารถมาขายภายในประเทศจึงนำเข้ามาเฉพาะรถที่ผลิตมาจากบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น

New Honda CBR250RR

ซึ่งส่วนตัวผมต้องบอกเลยว่า ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่มี QC หรือ การควบคุมคุณภาพการผลิตต่างๆ ดีอันดับ 1 ของโลกเลยก็ว่าได้ และถ้าในเอเชียก็ต้องเป็นประเทศไทยเรานี่ล่ะครับที่เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แล้วจะให้นำเข้าจากที่อื่นทำไม ถ้าไม่ใช่จากประเทศแม่ที่เหนือกว่าหรือดีกว่าเท่านั้น

New Honda CBR250RR

Honda CBR250RR Beating Master

สายตรงความแรงที่ถูกเสิร์ฟจากญี่ปุ่น มาถึงประเทศไทย นอกจากจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อๆ กันมาตั้งแต่ในรายการแข่ง WorldSBK แต่ในปัจจุบันยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจาก Honda RC213V รถแข่ง MotoGP อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นสมรรถนะของเครื่องยนต์ การดีไซน์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ช่วงล่าง เป็น Racing Machine ได้ครบเครื่อง

New Honda CBR250RR

Parallel Twin 250cc. PGM-FI

เครื่องยนต์ใหม่เป็นเครื่องยนต์ 2 สูบเรียง DOHC 4 วาล์ว/สูบ ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีขนาดกระบอกสูบ x ช่วงชัก = 62.0 x 41.3 มม. มีปริมาตร 249 ซีซี. มีอัตราส่วนกำลังอัด 11.5:1 เกียร์ 6 สปีด ให้กำลัง 38.1 แรงม้าที่ 12,500 รอบ/นาที แรงบิด 23.2 นิวตันเมตรที่ 11,000 รอบ/นาที

New Honda CBR250RR

เสื้อสูบอลูมิเนียม นำหนักเบา ระบายความร้อนด้วยดี ลูกสูบเคลือบโมลิดินัม ลดแรงเสียดทาน ระบายความร้อนดี ที่พิเศษคือปั้มน้ำจะต่อกับเพลาลูกเบี้ยว(แคมชาร์ฟ) แบบเดียวกับ RC213V ประสิทธิภาพการระบายความร้อนจึงไม่ต้องห่วง ใต้เครื่องยนต์หรืออ่างน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์ยังทำเป็นครีบระบายความร้อนด้วยนะ

New Honda CBR250RR
ตำแหน่งของช่องแรมแอร์ มีทั้งซ้าย-ขวา
แรมแอร์คู่ เพิ่มประสิทธิภาพการอัดอากาศ

แรมแอร์ ระบบท่อดักอากาศ ทางเดินอากาศ เข้าสู่หม้อกรองอากาศ เทคโนโลยีความแรงที่สำคัญของรถสปอร์ต New Honda CBR250RR ก็ได้รับการติดตั้งท่อแรมแอร์ดักอากาศไว้ภายในแฟริ่งด้านหน้าทั้ง 2 ข้างซ้ายขวา คือบริเวณใกล้ๆ กับกระบอกโช้คหน้าและหม้อน้ำ ถ้ามองจากหน้ารถจะเห็น อัดอากาศที่มีปริมาตรหนาแน่นและแรงเขาสู่กรองอากาศและชุดเรือนลิ้นเร่ง อีกชุดเรือนลิ้นเร่งยังเป็นแบบ Down Draft มีทางเดินของอากาศหรือไอดีที่สั้นและใหญ่ ถ้าเป็นยุคคาร์บูเรเตอร์ก็เป็นคาร์บูเรเตอร์แบบ Slingshot ดีๆ นี่เอง แรงแน่นอน!!

New Honda CBR250RR
Upside down ของ Showa ขนาด 37 มม. + Wave Disc ขนาด 310 มม. และคาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบจาก Nissin
คันเร่งไฟฟ้ามาพร้อมโหมดการขับขี่

คันเร่งไฟฟ้า Throttle by Wire อุปกรณ์มาตรฐาน การทำงานโดยจะมีเซ็นเซอร์ APS (Accelerator Position Sensor unit) ติดตั้งที่ปะกับแฮนด์ด้านขวาคอยจับการใช้คันเร่งหรือการ “บิด” และส่งสัญญาณไปที่ ECU (Electronic Control Unit) คำนวณและสั่งการเปิดเรือนลิ้นเร่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังเครื่องยนต์ กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเศษเสี้ยววินาที หรือแทบจะเรียลไทม์จับรอยต่อการทำงานไม่ได้เลย

New Honda CBR250RR
สวิทซ์เลือกโหมดขับขี่ทั้ง 3 โหมด เลือกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

ทั้งหมดยังเกี่ยวโยงกับการที่มีโหมดขับขี่ทั้ง 3 โหมด คือ Comfort, Sport และ Sport+ (Sport Plus) ที่มีความต่างการในเรื่องการตอบสนองชัดเจน และสามารถปรับเลือกใช้ได้ง่ายๆ ที่สวิทซ์แฮนด์ด้านซ้าย กดเลือกโหมดได้ตลอดเวลา

New Honda CBR250RR
โช้คอัพหลังเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ 5 ระดับ
เฟรมถักและช่วงล่างแน่นๆ  

เฟรมแบบถักหรือแบบนั่งร้าน ฮอนด้าเรียก Truss Frame มีเทคนิคหล่อขึ้นรูปแบบ Gravity Die Casting แข็งแรงและน้ำหนักเบา โช้คหน้าแบบ Upside down ของ Showa ขนาด 37 มม. ปรับไม่ได้ โช้คอัพหลังเดี่ยวปรับพรีโหลดได้ 5 ระดับ โช้คทำงานร่วมกับสวิงอาร์มหลังอลูมิเนียม ด้วยระบบ Pro-Link

New Honda CBR250RR
ระบบ Pro-Link

ดิสก์เบรกหน้าเดี่ยวแบบ Wave Disc ขนาด 310 มม. หนีบด้วยคาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบจาก Nissin ดิสก์เบรกหลัง Wave Disc ขนาด 240 มม. คาลิปเปอร์ 1 ลูกสูบจาก Nissin พร้อมระบบ ABS 2 Channel  เป็นมาตรฐาน ซึ่งจานดิสก์ที่เป็นแบบ Wave Disc จะช่วยในการระบายความร้อนออกจากจานดิสก์เบรก เพิ่มหน้าสัมผัสให้อากาศได้ถ่ายเทความร้อนมากขึ้น … ล้อแม็กอลูมิเนียม 7 ก้าน รัดด้วยยาง Tubeless ขนาด 110/70-17 และ 140/70-17

New Honda CBR250RR

ส่วนประกอบอื่นๆ ล้ำสมัย

นอกจากดีไซน์ที่เป็นสปอร์ตเรพริก้าถอดแบบมาจากรถแข่ง มีท่อไอเสียปลายคู่เด่นสุดๆ ยังติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยรอบคัน ไฟส่องสว่าง LED ทั้งคัน ไฟหน้า LED ดีไซน์ 2 ชั้น Double Layered เรือนไมล์ Full LED บอกตำแหน่งเกียร์ มีชิฟไลท์ บอกโหมดการขับขี่ มีจับเวลาหรือ Lap Time ที่กดใช้งานได้ที่สวิทซ์แฮนด์ด้านซ้าย ที่พิเศษของเรือนไมล์คือวัดรอบเครื่องยนต์ที่ปรับเลือกได้ 4 แบบ คือ แบบมาตรฐาน แบบเพิ่มความสว่าง แบบที่มีแถบไฟติดตรงรอบที่ต้องเปลี่ยนเกียร์ และแบบที่มีจุดไฟค้าง 0.7 วินาที เพื่อบอกรอบสูงสุดก่อนเปลี่ยนเกียร์ ให้เราได้ดูทันว่าเปลี่ยนเกียร์ตรงรอบที่เราตั้งใจจะเปลี่ยนเกียร์หรือเปล่า แจ่มเลย

New Honda CBR250RR

ทดสอบกันเลย

การทดสอบจัดขึ้นที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต สนามแข่งขันระดับโลกถึงจะเหมาะสมกับรถสเป็คพิเศษเมดอินเจแปน จริงๆ มีเหตุและผลอีกอย่างคือ เป็นสนามที่ยาว ใหญ่ มีทางตรงยาว มีโค้งหลากหลาย โค้งความเร็วต่ำ โค้งไฮสปีด ครบเครื่องการทดสอบรถสปอร์ตที่ถอดแบบจากรถแข่งเช่นนี้

New Honda CBR250RR
“โค้ชฟิล์ม” รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ และ “อาจารย์แมน” กิตติ แจ่มสาคร แนะนำเทคนิค

การทดสอบของสื่อมวลชนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 Session และสุดท้ายจะเป็นรอบ Free Run ชื่อผมอยู่ในกลุ่ม 2 แต่ตอนขี่จริงเจ้าหน้าที่ฮอนด้าแจ้งเปลี่ยนให้ผมมาขี่ที่กลุ่ม 1 หลังถ่ายภาพหมู่กันเสร็จผมก็มัวเดินชิลมองน้องพริ๊ตตี้อยู่ พอได้ยินเขาเรียกเท่านั้นแหล่ะ ผมรีบยัดหุ่นอ้วนๆ ลงในชุด Racing Suit แบบแทบลืมหายใจ  ป่ะ! ลุยกันเลย

New Honda CBR250RR

เล็กกระชับสบายหนุ่ม

สัมผัสแรก “เล็ก” หมายถึง Honda CBR250RR เนี่ยล่ะครับ แต่ไม่ก๋องแก๋ง จะบอกไงดี คือมัน “เล็กแต่แน่น” เอาเรื่องอยู่? ก็ยังหมายถึงรถอยู่นะ มีความกระชับ แฮนด์ไม่ต่ำมาก ถังน้ำมันเชื้อเพลิงขนาด 14.5 ลิตรดีไซน์สโลปไปด้านหน้า รับกับหน้าท้องจนถึงอกผู้ขี่เลยเมื่ออยู่ในท่าหมอบ เรือนไมล์มองเห็นชัดเจนไม่ว่าจะนั่งหรือหมอบ พักเท้าไม่สูงมากนัก น้ำหนักตัวที่ 168 กิโลกรัม สรุปเป็นสปอร์ตเรพริก้าหรือเรซซิ่งเรพริก้าที่ยังให้ท่าขี่ที่มีความสบายสูงมาก

New Honda CBR250RR

เปลี่ยนเกียร์ที่ 12,500 รอบ/นาที

การขับขี่ครั้งนี้มี “โค้ชฟิล์ม” รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ และ “อาจารย์แมน” กิตติ แจ่มสาคร บอกเทคนิคการขับขี่ก่อนแล้วว่า ให้พยายามใช้รอบการเปลี่ยนเกียร์ที่ 12,500 รอบ/นาที จะเหมาะสมที่สุด รวมถึงตำแหน่งเกียร์ในแต่ละโค้ง ก็ถือเป็นทางลัดในการทดสอบขับขี่ที่จะได้รับรู้ถึงการเค้นประสิทธิภาพได้ทันทีไม่ต้องลองผิดลองถูกกันหลายรอบ

New Honda CBR250RR

ผมขี่ออกไปในโหมดสปอร์ต คือทุกครั้งที่ดับเครื่องและสตาร์ทใหม่ ไม่ว่าโหมดขับขี่จะค้างที่อยู่ในโหมดไหนก็ตาม จะกลับมาที่โหมดสปอร์ตเสมอ การตอบสนองก็ธรรมดาๆนะ รอบเครื่องขึ้นได้สูง ผมเปลี่ยนเกียร์ในรอบเครื่องที่ 12,500 รอบต่อนาทีตามคำแนะนำ รถพุ่งไปอย่างมีพลัง โดยรวมขี่สนุกทีเดียว ประมาณ 3 รอบ กลุ่ม 1 ที่ผมร่วมขี่ก็เริ่มได้ใช้ความเร็ว คือการขี่จะมี “โค้ชฟิล์ม”และ “อาจารย์แมน” ขี่นำและปิดท้ายอ่ะนะ แล้วฟิล์มก็เริ่มขี่ช้าให้แซงผ่านไป นั่นคือสัญญาณเริ่มการใช้ความเร็วตามความสามารถแล้ว

New Honda CBR250RR

ทันทีที่เริ่มใช้ความเร็วกัน ก็เป็นจังหวะที่ผมกำลังออกจากโค้ง 3 พอดี ผมเดินคันเร่งออกจากโค้งในเกียร์ 3 ด้วยรอบประมาณ 6-7,000 รอบ กำลังเครื่องยนต์ห้อยๆ พอสมควร มองไปข้างหน้าเพื่อนสื่อก็ยืดระยะทางตรงไปหาโค้ง 4 กันแล้ว ผมยังเหมือนคลานออกจากโค้งและไต่ความเร็วมาเรื่อยๆ จนถึงโค้ง 4 บ้าง ก็เพิ่งจะมองโหมดขับขี่ อ้าววว ลองเปลี่ยนหน่อย เร็วเท่าความคิด นิ้วชี้มือซ้ายกดที่สวิทซ์เปลี่ยนเป็นโหมด Sport+ ทันที

New Honda CBR250RR

Sport+ หมัดเด็ด เต็มกำลัง

การตอบสนองของเครื่องยนต์ก็เปลี่ยนบุคลิกทันที ในโหมด Sport+ การตอบสนองของคันเร่งกับเครื่องยนต์รุนแรงขึ้นมาก คือบิดคันเร่งในตำแหน่งเดียวกัน เกียร์เดียวกัน แต่ความเร็วแรงและรอบเครื่องต่างกันและต้องบอกว่าต่างกันมาก ผมทำความเร็วไล่กลุ่มหน้าได้ง่ายขึ้น การเตะเปลี่ยนเกียร์ที่ 12,500 รอบ/นาที กำลังจะถูกส่งต่ออย่างดุดัน “โดดทุกเกียร์” แต่ผมก็ไม่แม่นที่จะสับเกียร์ให้เป๊ะตามรอบที่บอกในทุกๆ ครั้งๆ ส่วนมากจะเลยเพราะ??

New Honda CBR250RR

กำลังของเครื่องยนต์ที่มีทำให้เหมือนว่าไม่สุดรอบเครื่องซะที ในเกียร์ 6 บางทีมีเผลองัดเกียร์ 7 ทั้งที่มีตำแหน่งเกียร์บอกบนเรือนไมล์ เพราะกำลังเครื่องยนต์ที่รู้สึกว่าน่าจะยังไม่สุด คือในเกียร์ 6 รอบเครื่องและกำลังไม่ตันซะที(บนทางตรงสนามช้างฯ) และด้วยฟังก์ชั่นที่มีไฟบอกตำแหน่งรอบสูงสุดก่อนเปลี่ยนเกียร์ของเรือนไมล์ทำให้ผมได้รู้ข้อผิดพลาดได้ดีขึ้น  หาจังหวะเข้าเกียร์ได้แม่นขึ้น รวมถึง Lap Time ให้เรารู้เวลาขี่ของเราในทุกๆ รอบสนามแข่งขัน

New Honda CBR250RR

สุดทางตรงสนามช้างกับ 187 กม./ชม.

ผมเลือกขี่ในโหมด Sport+ ทุก Session เลยทีนี้ ด้วยความมันส์ ความสนุกที่เกินกว่าจะเป็นรถ 2 สูบ 250 ซีซี  ความเร็วทางตรงผมทำไม่ค่อยจะเท่ากันด้วยรถที่เปลี่ยนคันตลอดด้วย มีอยู่ Sesion เดียวที่ทำได้สูงสุดที่ 175-176 กม./ชม. หลายๆ รอบ กับปัจจัยน้ำหนักตัวผมที่ 85 กิโลกรัมไม่รวมชุดแข่ง การออกจากโค้งและการทำความเร็วทางตรง บนรถขนาด 250 ซีซี ก็จะอืดไปบ้างเมื่อเทียบกับเพื่อนสื่อฯ ที่มีน้ำหนักตัวที่เบากว่า ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกตินะ ตามกำลังรถ แต่ทำได้ขนาดนี้ก็สูสีกับรถขนาด 500 ซีซี ของฮอนด้าเขาเองแล้วล่ะ

New Honda CBR250RR

และความเร็วสูงสุดที่ผมได้ข้อมูลจาก “โค้ชฟิล์ม” ดีกรีนักแข่ง Moto2 และ “อาจารย์แมน” ดีกรีแชมป์ประเทศไทย เขาทำความเร็วได้ถึง 187 กม./ชม เลยทีเดียว สุดยอดไปเลยสำหรับรถเดิมๆ แรงตั้งแต่เกิด

New Honda CBR250RR

รอบสูง รอบจัด เสียงอย่างโหด

นอกจากการตอบสนองของเครื่องยนต์ที่แรงรอบแล้วนั้น ที่เด่นมากๆ คือระบบแรมแอร์และ “เสียง” เสียงการดูดอากาศของชุดเรือนลิ้นเร่ง ที่ดังเร้าใจมากๆ  ผมถือเป็นข้อดีเพราะทำให้รู้สึกสนุกและเร้าใจมาก และจะเห็นได้ว่าเป็นรถที่ใช้รอบเครื่องยนต์ในการขี่ที่สูงถึง 12,000 – 14,000 รอบ/นาที ซึ่งก็ไม่แปลกที่รถจำรองตัวแข่งมาระดับนี้ จะมีรอบเครื่องตอบสนองการทำงานในสนามแข่งเช่นนี้ เทียบกับ CBR250RR ในยุคเครื่องยนต์ 4 สูบทีปั่นรอบได้สูงกว่า 20,000 รอบต่อนาทีก็ธรรมดาไปเลย แต่จะบอกว่าถึงรอบสูงกว่าแต่ความเร็วไม่หนีกันนะ การสึกหรอก็จะสูงกว่าด้วยทั้งรอบเครื่องและจำนวนกระบอกสูบด้วยนั่นแหล่ะ

New Honda CBR250RR

ดังนั้นคนเล่นรถหลายคนมักเปรียบเทียบสมรรถนะกับรถเมดอินเจแปนในอดีตที่เก่ากว่ากันกว่า 20 ปี ขอบอกว่าเทคโนโลยียุคใหม่ทำให้หลายๆ พัฒนาอย่างเปลี่ยนไปแล้วล่ะคร้าบบบ

New Honda CBR250RR

แล้วโหมด Comfort ล่ะครับ?

โหมด Comfort ผมไม่ได้ลองปรับใช้ แต่ที่ได้ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ฮอนด้า คือจะเป้นโหมดที่ให้กำลังน้อยที่สุด ส่วนประโยชน์ของมันคือจะเพิ่มความปลอดภัยเมื่อต้องขี่ในขณะฝนตก พื้นถนนลื่น ไปจนถึงมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มขี่ เพื่อปรับตัวให้ชินกับกำลังของรถไปเรื่อยๆ ได้อย่างดี

New Honda CBR250RR

ช่วงล่างแน่นอนจริงๆ

ช่วงล่างเดิมๆ ใช้งานได้ดีมาก หนึบแน่น โช้คหน้าแกน 37 มม. ทำงานได้ลงตัว จะมีแต่โช้คหลังที่โดนน้ำหนักและการขับขี่ของผมเข้าไปทำให้ออกอาการนิ่มไปนิดนึง ในจังหวะเข้าลึกๆ และเปิดคันเร่งออกแรงๆ หรือเหวี่ยงขวาซ้ายในโค้งเอส มีนิ่มจนบางจังหวะห้อยพักเท้าครูดพื้นบ้าง แต่รถไม่มีเสียอาการ ให้ดีปรับพรีโหลดโช้คหลังให้แข็งอีกนิดก็แจ่มแล้วล่ะ หรือหาเกียร์โยงหล่อๆ มาประจำการก็แจ่ม แต่แค่เดิมๆ ก็ล็อคคันเร่งที่ 160 -170 เข้าโค้ง 4 ของสนามช้างได้สบายๆ

New Honda CBR250RR

เบรกทำงานได้ดีมาก ด้วยการที่เป็นรถเล็กความเร็วไม่สูงเหมือนกับรถคลาส 1000 ที่ผมขี่บ่อยกว่าในสนามช้าง การกำหนดจุดเบรกจุดเลี้ยวจึงชินกับรถขนาดใหญ่ เมื่อมาขี่ New Honda CBR250RR ผมก็ใช้จุดเบรกแบบที่คุ้นชิน ต้องบอกเลยว่า เบรกทำให้รถหยุดก่อนถึงจุดเลี้ยว คือเบรกทำงานได้ดีมาก รวมถึง Engine Brake ที่มีกำลัง แม้ไม่มี Slipper Clutch ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย ทำให้ผมเบรกได้ลึกมากขึ้นเรื่อยๆ และเลี้ยวได้อย่างฉับไวกว่าที่เคย และ ABS ก็ไม่ได้มารบกวนการขี่ในรูปแบบเรซซิ่งเลย สามารถกำหนักๆ ลึกๆ ได้ เฟี้ยว…. ที่จะแย่คือกำลังของผมนี่ล่ะครับ ไม่ฟิตซะเลย ฮ่าๆ

New Honda CBR250RR

เขียนมายาวเฟื้อย สรุปเลยดีกว่า

เอาว่าดีมากเลย ดีเกินกว่ารถขนาด 250 ซีซี ไม่ว่าจะเรื่องการผลิตการประกอบที่เนียนกริ๊ป ดีไซน์ กำลังเครื่องยนต์ ช่วงล่าง เทคโนโลยีต่างๆ และความล้ำค่าที่เป็นรถที่ผลิตและนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน อาจจะเป็นรถในตำนานอีกรุ่น เหมือนรถรุ่นพี่ในค่ายหลายๆ รุ่นที่ขึ้นเป็นตำนานไปแล้ว หลายรุ่นมีเงินก็ซื้อไม่ได้ประมาณนั้นเลย จะมีอีกนิดที่ผมอยากให้มีคือระบบ Quick Shifter เพราะการเปลี่ยนเกียร์ในรอบสูงๆ จำเป็นมาก การกำคลัทช์ทำให้เสียจังหวะ และแม้จะใช้เทคนิคยกคันเร่งนิดนึงแล้วใส่เกียร์โดยไม่กำคลัทช์ก็ทำได้ยากพอดูเลยล่ะ

New Honda CBR250RR

New Honda CBR250RR ราคา 249,000 บาท มีสีแดงและสีดำ 2 สีเท่านั้น

สุดท้ายที่พิเศษสุดๆ คือวางจำหน่ายที่โชว์รูม Honda Wing หรือร้านขายรถเล็กของฮอนด้าทั่วประเทศนั่นล่ะครับ หมดห่วงเรื่องเซอร์วิส มีมากมาย มาตรฐานสูง และสะดวก…. สุโก้ยยยย!

Special Thank : บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด

เจาะสเป็ค New Honda CBR250RR คลิกที่นี่

รีวิว All New Honda CBR150R คลิกที่นี่

บทความนี้เป็นสมบัติของ www.motomotionthailand.com เป็นทรัพย์สินทางปัญญา การคัดลอกหรือก็อปปี้ไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามกฎหมาย ผิด พรบ. ฟ้องถึงอาญาได้ 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่